วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

กระษัย สภาวะแห่งความเสื่อมไปของร่างกาย ( ตอนที่ ๑/๑ )

"กระษัย" แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ชื่อโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า
ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้งตัวเหลืองเท้าเย็น
"กระษัย" ในความหมายทางการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า โรคที่บังเกิดแก่มนุษย์ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม
ซูบผอม สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้มีเหตุมาจาก
เป็นโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อย (โรคหรืออาการเรื้อรังทุกชนิด)
หรือเนื่องจากมีอาการปรากฎไม่ชัดเจน เป็นๆหายๆ บางทีรักษาบางทีไม่รักษา บางทีรู้ว่าเป็นแต่ไม่รักษา บางทีไม่รู้ว่าเป็นจึงไม่รักษา สืบจากไม่มีอาการใดรุนแรง
อาการปรากฎภายนอกว่าเข้าเขตกระษัยตามคัมภีร์ "กระษัย"ว่าไว้เป็นดังนี้
๑ มีอาการผอมแห้งแรงน้อย หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีอาการอ่อนระโหยโรยแรงบ่อยครั้งโดย
ไม่มีเหตุอันควร กินเท่าไรก็ไม่อ้วน
๒ โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง เลือดน้อย หรือไอเป็นเลือดออกมา
๓ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวตามร่างกายและกล้ามเนื้อ ไม่มีกำลังบางครั้งชาตามปลายมือปลายเท้า
กล้ามเนื้อชักหดและลีบลง
๔ หนักแน่นตามเนื้อตามตัว ไม่สบายเนื้อตัว ขัดแข้งขัดขาเคลื่อนไหวไม่สะดวก กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ยอกเสียวที่หัวอกและชายโครง
๕ มีเหงื่อออกมากตามฝ่ามือฝ่่าเท้า หรือมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน มีอาการสะท้านร้อนสะท้อนหนาว
เป็นคราวๆ ท้องมักผูกเป็นประจำ
๖ ปัสสาวะเหลือง ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกระปริบกระปรอย
๗ บางคนผิวหนังตกกระตามร่างกาย

จากอาการปรากฎนี้ มีเหตุเนื่องจากสภาวะกระษัยที่โบราณแบ่งออกเป็น ๑๘ เหตุแห่งกระษัยนั้นโดยจะขอแจกแจงแบบย่อๆให้เข้าใจง่ายๆดังต่อไปนี้

๑ กระษัยล้น (แผนปัจจุบันว่าความเครียดลงกระเพาะ) แผนไทยว่ามักเกิดแต่ลางคนที่วิตกกังวลเป็นนิจ
ทำให้ตับร้อนผลิตน้ำดีออกเป็นน้ำย่อยมาก ที่ล้นคือน้ำย่อยล้น เกิดกรดมากในกระเพาะอาหาร มีไอร้อนจาก
กรดเกิดขึ้นเรียก "กำเดาย่อยกำเริบ" เกิดลมตามมาแดกขึ้นบน ทำให้จุกอกจุกคอ แดกลงล่างทำให้ปวดท้องน้อย
จนถึงหัวเหน่า
เหตุแห่งการเกิดกระษัยล้น คิดมากวิตกกังวลบ่อย,ชอบกินอาหารหมักดอง,หิวไม่กิน กินไม่หิว,อายุมากขึ้น
๒ กระษัยราก มีอาการมักอาเจียรลมเปล่า ท้องอืดเฟ้อ ปวดเมื่อยไปตามเนื้อตัวทั่วกาย เกิดแต่กำเดาย่อย
กำเริบ เมื่อนั้นลมร้อนเกิดตามแล้วดันขึ้นบนจนอาเจียรลมเปล่า ลางทีลมวิ่งเข้าไปตามเส้นทั่วกาย ปวดขัดไปทั่วตัว
เหตุแห่งการเกิดกระษัยราก ชอบทานอาหารรสเผ็ดร้อนมากเกินไป,ชอบกินของหมักดอง,ชอบกิน
เครื่องในสัตว์,ชอบกินของดิบของคาว
๓ กระษัยเหล็ก เกิดลมเสียดลงท้องน้อยจนถึงหัวเหน่า ขยับตัวเมื่อใดยิ่งเสียดมากขึ้นๆ จะกินก็ไม่ลงเพราะ
ลมอยู่เต็มท้อง บางครั้งลมวิ่งถึงยอดอกทำให้จุกอก
เหตุแห่งการเกิดกระษัยเหล็ก จากการทำงานหนักเรื้อรัง หิวไม่กิน กินไม่หิว หรือเกิดจากกินของผิดสำแดง
บ่อยครั้งเกิดตะกรันสะสมเป็นผลึก แล้วลมพัดพาไปทิ่มแทงอวัยวะน้อยใหญ่ในช่องคูถเกิดภาวะอักเสบ ลมที่เกิด
นั้นจะแผ่ในช่องท้องแข็งดุจเหล็ก จะพัดขึ้นบนลงล่างได้หมด

จะเห็นได้ว่ากระษัยทั้งสามเกิดเพราะลมมากระทำ ทำให้ล้นให้รากให้เหล็ก ซึ่งลมที่มากระทำนั้นเกิดแต่กำเดา
คือความร้อนเป็นเหตุตั้งต้น เหตุที่มาแห่งความร้อนเกิดเพราะ
๑ อ. อารมณ์ ความเครียด วิตกกังวล คิดมาก ฟุ้งซ่าน โกรธ เกลียด เสียใจ ผิดหวัง โลภ อิจฉา อารมณ์ทางใจ
ก็ให้เกิดความร้อนทางกาย เกิดต่อเป็นลมในที่สุด
๒ อ. อาหารก่อกระษัย
ชอบกินของหมักดอง หน่อไม้ดอง,ปลาร้าดิบ,นมเปรี้ยว,ผักดอง แล้วไปดองต่อเนื่องแต่เหตุที่ย่อยไม่หมด
สะสมอยู่ในลำไส้จนเกิดความร้อนเกิดลมตามมา
ชอบกินของดิบ ของคาว สกปรกเรียกกินอาหารผิดสำแดง กินมากในประเทศสมุหฐานร้อน กลายเป็น
ของเสียสะสมเกิดการหมักต่อในไส้เกิดความร้อนตามมา เกิดลมเป็นที่สุด
น้ำย่อยออกมาเมื่อหิวแต่ไม่กิน แต่ไปกินตอนน้ำย่อยไม่ออกมาซึ่งไม่หิว ทำบ่อยเข้าๆเกิดภาวะความเสื่อม
ไปของระบบการย่อยอาหาร อาหารย่อยไม่หมดเกิดเป็นตะกรันเกิดกำเดาเกิดลม
๓ อ. อาชีีพ ทำงานหนักใช้ตัวเองเปลือง,เครียด,หิวไม่ได้กิน ไปกินเมื่อไม่หิว,หาอะไรก็ได้กินอ้างหาง่ายกินง่าย
กินเร็ว เหตุดังนั้นก่อให้เกิดกำเดาและเกิดลมเป็นที่สุด
๔ อ. อริยาบท ชอบนั่งชอบนอน กินแล้วนั่งกินแล้วนอน เคลื่อนไหวร่างกายน้อย กำเดาย่อยหย่อนอาหาร
ย่อยไม่หมดเกิดการสะสมมากเข้า จากหย่อนกลับเป็นกำเริบ เกิดลมตามมาเป็นที่สุด
๕ อ. อากาศ ในประเทศสมุหฐานร้อนมักเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมเป็นพื้น ยิ่งร้อนมากลมยิ่งมาก หากเกิด
แต่ธาตุเจ้าเรือนที่ไฟหรือลม กระษัยยิ่งเกิดขึ้นได้เร็วด้วยมีตัวหนุนจากธาตุเจ้าเรือนเกิดเป็นพื้นอยู่แล้ว
๖ อ. อายุ เข้าปัจฉิมวัย ลมกำเริบประการหนึ่ง อวัยวะเสื่อมไปตามอายุประการหนึ่ง

หากทำเหตุตามกล่าวข้างต้นมากเข้าๆ ความเสื่อมความชำรุดจะบังเกิด เกิดเป็นกระษัย เมื่อเกิดแล้วหมอไทย
มีวิธีบำบัดอาการดังนี้
รุ กำเดาด้วยยาเขียว,ยาขม,น้ำกระสายยารสเย็น เพื่อผ่อนกำเดา
ลมในไส้-นอกไส้ ด้วยยารสร้อนเช่น ธาตุบรรจบ เพื่อผ่อนลม
ระบบขับถ่าย นำตะกรันนำอาหารเก่าออก เพื่อทำความสะอาดระบบการย่อยอาหาร
ล้อม หากปวดเมื่อยตามตัว ใช้ยาสหัสธารา เพื่อผ่อนลมในเส้น
หากมีอาการลมตีขึ้นบน ให้ยาเทพจิตร เพื่อผ่อนลมบนลงล่าง
หากมีลมแน่นเข้าอกเข้าคอ ให้ยาทิพโอสถ เพื่อผ่อมลมแน่นลงล่าง
รักษา ตำรับยารักษากระษัยแต่ละชนิด

ยาแก้กระษัยล้น เปลือกต้นงิ้วเผา(ได้ด่าง),เปลือกลูกสำรองเผา(ได้ด่าง),ผักโหมหนามเผา(ได้ด่าง)
มะกรูดหมกไฟ,ชะมดเช็ด,ลูกพิลังกาสาคั่วกับใบเตยหอม,เมล็ดฝ้ายคั่วกับใบเตยหอม,ขี้ไต้ของต้นเสม็ด
สมอร่องแร่ง ทั้งหมดสิิ่งละ ๑ ส่วน,พริกไทยร่อน ๑๗ ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผง
วิธีใช้ ใช้น้ำมะกรูดเป็นกระสาย ผสมผงยา1 ช้อนชาครึ่งลงละลายเติมน้ำอุ่นนิดแล้วดื่ม
หลังอาหารทันทีทุกมื้อ

ยาแก้กระษัยราก กระเทียม,สี่สหาย(ลูกจันทน์,ดอกจันทน์,กระวาน,กานพลู)ลูกสวาด,ลูกกระเบา,สะค้าน
รากเจตมูลเพลิง,รากช้าพลู,ดีปลี ทั้งหมดสิ่งละ ๑ ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผง
วิธีใช้ ใช้น้ำร้อนเป็นกระสายผสมผงยา 1 ช้อนชาครึ่งลงละลาย หลังอาหารทันทีทุกมื้อ

ยาแก้กระษัยเหล็ก ยาสนั่นไตรภพ ใบกระเพราสด,ใบแมงลักสด,ใบผักเสี้ยนผีสด,กระชายสด,กัญชาสด,พริกไทยสด,ขิง สด,หอมแดง,หญ้าไซสด,ลูกคัดเค้าสด,เกลือแกงเจือน้ำ ทั้งหมดตำเอาน้ำให้ได้สิ่งละ ๑ ทะนาน แล้ว
นำไปหุงกับน้ำมันงา ๑ ทะนาน ส่วนน้ำยาจะค่อยๆระเหยออกคงไว้แต่น้ำมันเท่านั้น เอาน้ำมันที่ได้ มาผสมกับ
ผงสี่สหาย,เทียนดำ,เทียนขาวและการบูร น้ำหนักสิ่งละ ๑ บาท
วิธีใช้ เอาน้ำมันผสมชื่อสนั่นไตรภพ มาทาท้องแล้วโกยไปมา สักสามวันจนท้องเหล็กนิ่มลง
จึงให้กินผสมกับน้ำอุ่นอีกสามวัน หายแล
จบตอนที่๑/๑ ตอนหน้า๑/๒กระษัยจุก,กระษัยท้น,กระษัยเสียด

ที่มา: คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

1 ความคิดเห็น: