วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ตอนที่๑/๒ กระษัย สภาวะแห่งความเสื่อมไปของร่างกาย

กระษัยจุก กระษัยท้น กระษัยเสียด

กระษัยทั้งสามเกิดแต่เหตุดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่ ๑/๑ คือเหตุเกิดแห่ง อารมณ์,อายุ,อาชีพ,อริยาบท
อาหาร และอากาศ ซึ่งได้กล่าวไว้ถึงสาเหตุแห่งการเกิดโรคตามคัมภีร์สมุหฐานวินิจฉัยนั่นเอง นอกจากนั้น
ยังกล่าวไว้ในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์,คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ควรทบทวนทำความเข้าใจเพื่อนำมาเข้าใจในคัมภีร์
กระษัย
 
หัวใจแห่งกระษัย
กระษัย เกิดแต่เหตุ นำมาซึ่งกำเดา กำเดานำลมให้เกิด ลมนั้นไปกระทำให้เกิดอาการต่างๆ อาการที่ต่างกัน
แยกเป็นกระษัยต่างที่กัน แต่เหตุที่เกิดเดียวกัน

กระษัยจุก ตำแหน่งอาการเริ่มอยู่ที่ช่องท้องกระทำให้จุกท้อง ลมเข้าไส้ใหญ่ไส้น้อยจนพองขึ้น เหมือนสูบลมเข้ายางในจักรยาน เมื่อจุกท้องแล้วจะเกิดแรงดันต่อขึ้นบนให้จุกอกเลยขึ้นไปอีกให้จุกคอ อาการจุกเป็นอาการอัดอั้นไม่ออก อึดอัดในท้อง ในอก ในคอ เมื่อถึงคอกลืนก็ไม่เข้าคายก็ไม่ออก ปิดระบบทางเดินหายใจเข้าออกมิได้
เป็นอาการอันตราย ลางทีลมจากท้องที่ดันขึ้นอกขึ้นคอนำพาน้ำย่อยขึ้นไปด้วยเกิดอาการเรอเหม็นเปรี้ยวหรือ
กรดไหลย้อน เป็นมากเข้าน้ำย่อยไปกัดไปกล่อนที่ระบบศอเสลด เกิดต่อเป็นทอมซิลอักเสบ เกิดเป็นไทรอยด์
ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ติดเชื้อง่ายป่วยง่าย นอกจากนั้นลมที่ดันขึ้นบนนำเลือดให้ไหลย้อนขึ้นบนด้วยเป็นภาวะ
ความดันโลหิตสูง ลางที่นำไขมันขึ้นไปอุดบนศีรษะเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
น้ำมันนวดแก้กระษัยจุก ใช้สมุนไพรสดดังนี้ ขอบชะนางทั้งสอง,เอื้องเพ็ดม้า,ผักเสี้ยนผี,เปลือกกุ่มทั้งสอง
,กระเทียม,หอมแดง,เปลือกทองหลางใบมน,กระทือ,พริกไทย,ใบคนทีสอ,เปลือกมะรุม,หญ้าไซ,กระพังโหมทั้ง
สอง มาตำคั้นเอาแต่น้ำให้ได้สิ่งละทะนานผสมเข้าด้วยกัน เติมน้ำมันงาอีกหนึ่งทะนาน นำขึ้นไฟหุงให้เหลือแต่น้ำมัน
เอาน้ำมันที่ได้มาผสมกับ สี่สหาย,เทียนทั้งสอง,ดีปลี,มหาหิงค์สะตุ,การบูร ทั้งหมดตำละเอียดลงละลายน้ำมัน
วิธีใช้ ทาน้ำมันที่ได้บนแผงอกแผงท้อง แล้วนวดรีดจากบนลงล่าง สักสามวัน จากนั้นให้เอาน้ำมันเจือกับน้ำอุ่น
จิบกินหลังอาหารทุกมื้อสักสามวัน จากนั้นให้ปรุงยาตัดรากกระษัยจุก
ยาตัดรากกระษัยจุก เนาวหอยเผา(หรือเท่าที่หาได้) น้ำหนักสิ่งละ ๑ ส่วน ได้ขี้เถาด่าง ไปผสมกับเหง้าขิง
แห้งบดหนัก ๒ สลึง,ดีปลีบดหนัก ๑ บาท,พริกไทยร่อนบดหนัก ๑บาทสองสลึง ใช้น้ำมะกรูดหมกไฟเป็นกระสายยา
ผสมยาครั้งละ ๑ ช้อนชาเจือน้ำอุ่น หลังอาหารทุกมื้อ ขับลมในไส้-นอกไส้,ลมแน่นเข้าอกเข้าคอ,ขับลมในเส้น,
ขับลมในโพรงกระดูก,ขับปัสสาวะ,รู้ซึ่งกระจายเลือดลม,ทำให้เส้นเอ็นหย่อน,และขับของเสียออกทางคูถเสมหะ

กระษัยท้น ตำแหน่งของอาการจะเกิดขึ้นเมื่อกินอาหารเข้าไปน้ำย่อยหลั่งออกมาระบบย่อยเริ่มทำงาน
เกิดกำเดาย่อย เกิดลมในไส้นอกไส้ตามมาลอยเข้ากระเพาะจนลอยขึ้นไปดันชายโครง แน่นชายโครง ทำให้หายใจไม่ออก เมื่อเป็นนานเข้าเกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ,นิ่วในถุงน้ำดี,นิ่วในท่อส่งน้ำดี
ยาแก้กระษัยท้น พริกหอม,พริกหาง,ลูกจันทน์,ลูกกระวาน,คราม สิ่งละ ๑ เฟื้อง เทียนทั้งห้า
โกฎทั้งห้า,เปล้าทั้งสอง สิ่งละ ๑ สลึง บอระเพ็ด,หัวแห้วหมู,ขมิ้นอ้อย,ลูกพิลังกาสา,รากไคร้เครือสะตุ สิ่งละ
๑ บาท,กัญชา ๒ สลึง,ดีปลี ๑ บาท,สหัสคุณเทศ ๑ ตำลึง,ใบกระเพราแห้ง ๒ ตำ
วิธีทำ นำสมุนไพรมาบดรวมกันเป็นผง วิธีใช้ ลงละลายครั้งละ๑ช้อนชาในน้ำมะกรูดผสมน้ำอุ่น
กินหลังอาหารทันทีทุกมื้อ
หากมีอาการนิ่วร่วม ให้กินยาตัดรากกระษัยจุกก่อนอาหาร ยากระษัยท้นหลังอาหาร

กระษัยเสียด ตำแหน่งของอาการเป็นสองแห่ง ถ้าลมนั้นขึ้นบนจะเสียดชายโครงทั้งสองข้าง ถ้าลงล่าง
จะเกิดลมตะคริวลงขาลงเท้า ต่างกันกับกระษัยที่กล่าวมาทั้งหมดแต่ตอนที่ ๑/๑ - ๑/๒ คืออาการตะคริวลง
ล่างคือมีสองอาการร่วมกัน
ตำรับยาประจุกระษัยเสียด สี่สหายสิ่งละสองส่วน,เบญจกูลสิ่งละสองส่วน,พริกไทย,มะตูมอ่อน,แห้วหมู,
บอระเพ็ด,ลูกพิลังกาสา,ลูกสลอดสะตุแล้ว สิ่งละสองส่วน,กรุงเขมา ๓ ส่วน,รากไคร้เครือสะตุ ๙ส่วน
วิธีทำ นำสมุนไพรมาบดละเอียดเป็นผง วิธีใช้ ลงละลายในน้ำมะกรูดผสมน้ำอุ่น ครั้งละ ๑ ช้อนชา
กินหลังอาหารทันทีทุกเวลา
ใช้น้ำมันนวดแก้กระษัยจุก นวดรีดเส้นขาถึงเท้า เพื่อมิให้เป็นลมตะคริว

เมื่ออาการของกระษัยดังกล่าวรวมถึงกระษัยในตอนที่ ๑/๑ ดีขึ้นแล้วให้แต่งยาดังนี้
ตำรับยาครอบกระษัย ๗ จำพวก
แก่นสน,รากคัดเค้า,รากขี้เหล็ก,รากแสมสาร,มะคังทั้งสอง,จำปา,กระดังงา(ใบและราก),ลูกพิลังกาสา,
หมูเครือ,เจตมูลเพลิง,หญ้าไซ,เอื้องเพ็ดม้า,สะค้าน,รากเข้าสาน,รากมะดูกทั้งสอง,รากสหัสคุณเทศ,หอม,
รากถั่วแปปผี,รากตาเสือ,รากคันทรง,รากมะเกลือ,รากมะรุม,กุ่มบก,ทองหลาง,บอระเพ็ด,พริก,ขิง,กระทือ,
กระเทียม,กระชาย,ไพล,ผิวมะนาว,ผิวมะกรูด ส่วนเสมอ
วิธีทำ บดหยาบห่อด้วยผ้าขาวบาง ดองในน้ำผึ้ง ๗ วัน วิธีกิน ๑ช้อนโต๊ะชงกับน้ำอุ่น ดื่มเช้า-เย็น
สรรพคุณ ครอบกระษัย ๗ จำพวก,ฟอกระบบเสมหะทุกระบบ,ปรับสมดุลธาตุไฟ,กระตุ้นการทำงานของระบบ
วาตะ,รุตะกรันที่อยู่ตามอวัยวะน้อยใหญ่,ขับตะกรันในโลหิต

สำหรับการรุและล้อมของกระษัยทั้งสามชนิดดังกล่าวข้างต้น ให้รุล้อมเช่นเดียวกับกระษัยในตอนที่ ๑/๑
แล้วจึงต่อด้วยยารักษา และยาครอบเป็นสุดท้าย
จบตอนที่ ๑/๒ แต่เพียงนี้ ในตอนหน้า ๑/๓ เป็นตอนของกระษัย ๓ ปลา (ปลาไหล,ปลาหมอ,ปลาดุก)
  
ที่มา: คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น