วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โรคปวดข้อรูมาตอยด์

โรคปวดข้อรูมาตอยด์ 
 
                 

             โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อม ๆ กัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ 
             
              แพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่าโรคปวดข้อรูมาตอยด์เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี้) ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตนเองเรียกวปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune)
 

              ในทัศนะแพทย์แผนไทย เรียกโรคปวดข้อรูมาตอยด์ว่า ประดงข้อ หรือ ประดงเข้าข้อ เป็นภาวะน้ำไขข้อพิการ ในตำราหัตถเวชกรรมแผนไทย (นวดแบบราชสำนัก) จะตรงกับโรคลมลำบอง ซึ่งเกิดจากอาหารและอากาศ มีสภาวะของการติดขัดคั่งค้างของเลือด (มีพิษ) น้ำไขข้อ (เสมหะ) ทำให้การไหลเวียน (วาตะ) ติดขัดสะสมคั่งค้างพอกพูน จึงเกิดความร้อน (ปิตตะ) อักเสบ บวม แดง ร้อน ทำให้เกิดการตีบตันของเส้น (นหารู) แล้วส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบและข้อพิการจนใช้งานไม่ได้ 
             
               นอกจากนี้พิษที่สะสมอยู่จะไหลเวียนไปตามกระแสโลหิตเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบภูมิคุ้มกันจึงต่ำลง ส่งผลให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา
  



อาการโรคปวดข้อรูมาตอยด์
               
               ผู้ป่วยโรคปวดข้อรูมาตอยด์ส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูกนำมาก่อน นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน แล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น

               ข้อที่เริ่มมีอาการอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า 


               ต่อมาจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือ มีอาการปวดข้อ พร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้ง ๒ ข้าง และข้อจะบวม แดง ร้อน นิ้วมือ นิ้วเท้า จะบวมเหมือนรูปกระสวย 

               ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย ตั้งแต่ข้อ ขากรรไกร ลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า

               อาการ
ปวดข้อรูมาตอยด์สำหรับผู้ที่เริ่มเป็นใหม่ๆ จะมีอาการปวดข้อและข้อแข็ง (ขยับลำบาก) มักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจ หรือไม่อยากตื่นนอน พอสายๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาการจะทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดข้อตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับกำเริบรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์
 

              นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคปวดข้อรูมาตอยด์บางรายยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง อาการปวดชาปลายมือ จากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น อาการนิ้วมือ นิ้วเท้าซีดขาว และเปลี่ยนเป็นเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เป็นต้น


สาเหตุ
โรคปวดข้อรูมาตอยด์

               เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคปวดข้อรูมาตอยด์ มีเหตุปัจจัยหลายอย่างร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้คือ
         ๑ ) เป็นไข้พิษ ไข้กาฬ เรื้อรัง ในปัจจุบันคนเป็นกันมาก แต่หมอแผนปัจจุบันไม่รู้จัก ทำให้ขาดการรักษาอย่างถูกวิธี ส่งผลให้เกิดการสะสมโรคอยู่ภายใน ทำให้โลหิตเป็นพิษ มีพิษสะสมเรื้อรังอยู่ในเลือดและเสมหะ และไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ไข้พิษ ไข้กาฬ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ตักศิลา
ในคัมภีร์ตักศิลา ได้อธิบายการรักษา ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ) ซึ่งมีข้อความบางตอน ใกล้เคียงกับการเกิดโรค ปวดข้อรูมาตอยด์ ดังนี้ ....... วางยาดับพิษ กระทุ้งพิษ อย่าให้พิษกลับเข้ากระดูกได้ ให้ออกจากร่างกายให้หมดสิ้น ถ้าออกไม่หมด ทำพิษคุดในข้อในกระดูก กลับกลายเป็นโรคเรื้อน โรคพยาธิ ลมจะโป่ง ลมประโคมหิน บวมทุกข้อทุกลำ มีพิษไหวตัวมิได้... 


         ๒ ) อิริยาบถ คนไข้มักมีอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนินนาน สะสมเรื้อรัง ทำให้เกิดการติดขัดของระบบไหลเวียน


         ๓ ) ขาดการออกกำลังกายอย่างรุนแรง ทำให้ขาดการกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ระบบการไหลเวียนเลือดต้องอาศัยระบบการทำงานของกล้ามเนื้อที่แข็งแรงด้วย มิใช่อาศัยการทำงานของหัวใจเพียงอย่างเดียว
 

         ๔ ) อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่แสลง หรืออาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ ซึ่งจะเป็นพิษและสะสมเรื้อรังเรื่อยมา
 

         ๕ ) มลพิษจากสิ่งแวดล้อม อากาศที่เป็นพิษ ถูกสูดดมเข้าระบบทางเดินหายใจ และพิษได้สะสมอยู่ภายในเลือด ในตับ ไต เรื้อรังเรื่อยมา
 

         ๖ ) พิษที่สะสมอยู่ภายในร่างกายโดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด สะสมเรื้อรังเรื่อยมา โดยมักมีภาวะท้องผูกเรื้อรังร่วมด้วย
 

         ๗ ) พิษในโลหิตระดูสตรีที่ไม่ได้ถูกขับออกตามปกติ ในทัศนะแพทย์แผนไทย โลหิตระดูสตรีเป็นโลหิตมีพิษ ที่จะต้องถูกขับออกจากร่างกายเป็นประจำทางทวารมดลูก เดือนละครั้ง ที่เรียกว่า ประจำเดือน หากมีเหตุให้โลหิตระดูไม่ถูกขับออกตามปกติ ทำให้เกิดการสะสมพิษ และถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิต เกิดการสะสมพิษเรื้อรังเรื่อยมา
 

        ๘ ) พิษจากน้ำคาวปลา จากการคลอดบุตรที่ไม่ได้อยู่ไฟ และขับน้ำคาวปลา ทำให้พิษสะสมอยู่ภายใน ส่งผลให้โลหิตเป็นพิษตามมา
 

        ๙ ) อารมณ์เครียด วิตกกังวล เป็นเหตุปัจจัยเสริมมากระตุ้น ให้เกิดภูมิต้านทานต่ำลง
 

       ๑๐ ) ท้องผูกเรื้อรัง เป็นปัจจัยให้เกิดการสะสมพิษในระบบทางเดินอาหาร

            แนวทางการรักษา โรคปวดข้อรูมาตอยด์ แพทย์แผนไทยสามารถรักษาได้ แต่ต้องใช้เวลาในการขับพิษ กระทุ้งพิษออกให้หมดให้สิ้น และการวางแผนการรักษา เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน ที่สำคัญควรต้องรักษาแต่ในระยะแรกๆ ที่โรคยังอ่อนอยู่ หากให้ลุกลามนานเข้า หรือรักษาผิดวิธี ก็จะยากต่อการรักษา

แนวทางการรักษา
โรคปวดข้อรูมาตอยด์   โดยทั่วๆ ไปมีดังนี้ 

         - ระบาย ถ่าย ขับ กระทุ้งพิษออกจากร่างกาย 


         - สะลายลิ่มเลือด ลิ่มเสมหะ ที่บริเวณข้อ เพื่อทุเลาอาการ ปวด บวม แดง ร้อน ให้ข้อขยับง่ายขึ้น 


         - กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ด้วยการบริหาร ขยับข้อ เบา ๆ บ่อย ๆ และใช้ยากระตุ้นการไหลเวียนโลหิตร่วมด้วย 


         - ล้างพิษในเลือด ฆ่าเชื้อในเลือด ฆ่าเชื้อในระบบน้ำเหลือง 


         - บำรุงเลือด บำรุงตับ ไต 


         - ให้ยาเสริมภูมิต้านทาน 


         - นวดอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียน ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ 


         - ออกกำลังกาย กายบริหารเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ 


         - งดของแสลงต่างๆรวมถึงน้ำเย็


         - ควบคุมอารมณ์ ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล 


     การรักษาหากคนไข้ให้ความร่วมมือ และมีความอดทน การรักษาก็จะได้ผลดีขึ้นและเร็วขึ้น
  
 ที่มา:  https://www.facebook.com/sakeena.tasneem?hc_location=stream

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น