วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตำรับยาเบ็ญจะอำมฤตย์

     บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย) ลำดับชั้นที่๖ ในสายราชสกุลแพทย์ "ทินกร"

      ตำรับยาเบ็ญจะอำมฤตย์นี้ ปรากฎอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในที่นี้จักขอจำแนกแยกแยะองค์ประกอบของ ยาตำรับนี้ตามกรรมวิธีการอ่านตำรับยาแบบโบราณเพื่อจักทราบสรรพคุณปรากฎ
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลความหมายของคำว่า เบญจ และ อำมฤตย์ไว้ดังต่อไปนี้ " เบญจ " หมายว่า ลำดับห้า ส่วนคำว่า "อำมฤตย์" หรือ อมฤต หมายว่า น้ำทิพย์หรือเครื่องทิพย์ เบญจอำมฤตย์จึงน่าจักแปลได้ว่า เครื่องทิพย์ห้าประการ หรือ น้ำทิพย์ทั้งห้าก็ได้ ถึงแม้จะมีคำว่าเบญจ แต่ตำรับยานี้มิได้อยู่ในพิกัดยาเบญจแต่อย่างใด และยังประกอบไปด้วยเครื่องยาถึงเก้าชนิดดั่งนี้ขออนุญาติคัดลอกตำรับยานี้จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์

     ชื่อตำรับยา " เบ็ญจะอำมฤตย์ " เอามหาหิงค์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล เอามหาหิงค์,ยาดำ,รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไท ๑ เอาสิ่งละ ๑สลึง รากทนดี ๒ สลึง ดีเกลือ ๔ บาท

    ยาห้าสิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ ทำเป็นจุณละลายน้ำส้มมะขามเปียก ให้รับประทานน้ำหนัก ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้อันเป็นเมือกมัน แลปะระเมหะทั้งปวง

     หมายเหตุ การสะตุเครื่องยาเมาเบื่อในตำรับยานี้ ใช้มะกรูด,มูลโค,แกลบข้าว,และกำเดาจากแกลบข้าวจึ่งจะสะตุยาได้ฤทธิ์เครื่องยาเหมาะสมกับตำรับยานี้เท่านั้น ห้ามใช้วิธีอื่นเป็นขาด ดีเกลือต้องเป็นดีเกลือไทยเท่านั้น กระทำเป็นจุณ หมายยิ่งกว่าละเอียดคือเปรียบดั่งผงแป้ง และจักต้องใช้น้ำส้มมะขามเปียกเป็นกระสายยาเป็นเครื่องเชื่อมประสานปั้นเป็น ลูกกลอนแล้วต้องได้น้ำหนัก ๑ สลึงพอดี ห้ามนำไปปรุงด้วยกรรมวิธีอื่นต้องกระทำดั่งระบุไว้ในตำรับเท่านั้นจึ่ง สำเร็จสรรพคุณตามตำรับได้
หากอ่านตำรับยาโดยวิธีโบราณแล้วจักแยกได้เป็นดั่งนี้
     เครื่องยาหลัก มหาหิงค์,ยาดำ,รงทอง
     เครื่องยาช่วย รากทนดี,ดีเกลือ
     เครื่องยาประกอบ ขิงแห้ง,ดีปลี,พริกไท

      สรรพคุณเครื่องยาหลัก ถ่ายลม,ถ่ายน้ำเหลือง,ถ่ายเสมหะแลโลหิตที่เป็นพิษ,กัดฟอกเสมหะแลโลหิต

     สรรพคุณเครื่องยาช่วย ถ่ายเสมหะ,ถ่ายน้ำเหลืองเสีย,ขับเมือกมันในลำไส้

     สรรพคุณเครื่องยาประกอบ ขับเสมหะ,เจริญอากาศธาตุ, แก้ปถวีธาตุพิการ,แก้เสมหะเฟือง


     สรรพคุณตามตำรับบันทึก แก้ปะระเมหะ หมาย เสมหะที่แข็งตัวอย่างยิ่ง(ข้นแข็ง) เกิดแต่อาโปบุพโพ-โลหิตฟอกอุจจาระอันลามก หมายกรีสังในบุพโพและโลหิตนั้น รวมขับเมือกกรีสังในลำไส้

      อธิบายสรรพคุณตำรับดั่งนี้ ตำรับนี้ใช้เป็นยารุ หมายกรีสังอันเกิดแต่น้ำเหลืองและเลือดที่เป็นพิษนั้น และเป็นเหตุปลายที่เกิดมิใช่เหตุต้น จักเห็นว่าเครื่องยานี้มีแต่สรรพคุณรุเป็นหลัก แพทย์จักต้องวางด้วยความระมัดระวังต้องพิจารณากำลังโรคแลกำลังกายของผู้ไข้ว่ามีแรงต้านทานแรงโอสถสารของเครื่องยาในตำรับนี้ได้ แต่เหตุใดเล่าที่เป็นต้นทางแห่งโรคกระทำให้เสมหะเกิดเป็นพิษ
     ๑.เกิดแต่การกระทบกระแทกจนอักเสบติดเชื้อเป็นหนองภายใน
     ๒.เกิดแต่อวัยวะภายในมีน้ำหนอง(กรีสังของน้ำเหลือง) กระทำให้น้ำเหลืองเป็นพิษ เรียกพิษเสมหะ    
     ๓.เกิดแต่มีกรีสังของอวัยวะภายในที่พิการเจือเข้าไปในโลหิตกระทำให้บังเกิด พิษในโลหิต เรียกพิษโลหิต
     ๔.เกิดแต่ฝีภายในลาม(มะเร็งลาม) กระทำให้บังเกิดพิษเสมหะบุพโพ และโลหิต เหตุดังกล่าวกระทำให้เสมหะข้นแข็งขึ้นเป็นปะระเมหะ ๒๐ ประการแล

การรักษาจำต้องดำเนินต่อไปหลังจากวางยาตำรับนี้แล้ว เมื่อปะระเมหะแตกตัวกระจายออกไป บุพโพและโลหิตจักสะอาดขึ้น ผู้ไข้เริ่มมีกำลังกายต่อสู้กำลังโรคได้มากขึ้น และจักต้องวางเคียงกับยาบำรุงโลหิตเสมอไป เมื่อผู้ไข้มีกำลังกายดีขึ้นแพทย์จักต้องล้อมอาการข้างเคียงของโรคที่ดำเนินอยู่นั้น พร้อมกับการรักษาไปที่สมุฎฐานต้นทางของโรคตามที่แพทย์ได้วินิจฉัยไว้ก่อนแล้ว หลังจากนั้นจึงปรับธาตุบำรุงธาตุต่อไปจนผู้ไข้สมบูรณ์พร้อมปรกติ พร้อมนี้แพทย์พึงวางลำดับอาหารที่เหมาะควรแก่โรค และงดอาหารที่ผิดสำแดงต่อโรคประกอบตลอดการรักษานั้น ที่สำคัญแพทย์ไม่รักษาเพียงกาย แต่รักษาใจผู้ไข้ไปพร้อมกัน เป็นเช่นนี้มาแต่โบราณกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น