วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยาหอมไทยแต่ดั้งเดิมมา

ยา-หอม แสดงว่ายานั้นต้องหอม โบราณตรงไปตรงมาแบบนี้เสมอ แล้วยานั้นหอมได้อย่างไร หอมแบบไหน
ทำอย่างไร และใช้อย่างไร
ตำรับยาต้องประกอบด้วยสมุนไพรสองชนิดขึ้นไปเสมอ ยาหอมจึงเป็นยาไทยที่ปรุงจากของหอมหลากหลาย ชนิดมาจากพืชบ้างสัตว์บ้างและแร่ธาตุต่างๆบ้าง มาทั้งจากต่างประเทศ เรียกเครื่องหอมเทศ และมาจากถิ่นที่ของตนในที่นี้ขอเรียก เครื่องหอมไทย นำมาผสมผสานกัน ได้เครื่องหอมเป็นยา ซึ่งความหอมที่ได้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ
สรรพคุณรักษาด้วย หมอไทยจึงทำยานั้นให้หอม เป็นการรักษาทางกลิ่นสัมผัส ในแผนไทยเรากำหนดสรรพคุณ
ของสมุนไพรด้วยรสของสมุนไพรนั้น โดยแบ่งเป็น ๙ รส จะขอกล่าวเพียง ๒ รส คือ รสหอมร้อน และ รสหอมเย็น
เมื่อนำมาทำเป็นยาหอมจะได้ยาหอม ๒ รส คือ ยาหอม ออกทางร้อน และยาหอมที่ไม่ร้อนไม่เย็น เรียก ยาหอม ออกทางสุขุม ใช้รักษาอาการทางลมที่แตกต่างกันเป็น ๒ กอง คือกองลมในไส้,นอกไส้ ใช้ยาหอม ออกทางร้อน และกองลมตีขึ้นเบื้องบน ใช้ยาหอม ออกทางสุขุม แต่ถ้าจะกล่าวโดยละเอียด ยาหอมสุขุม ยังแบ่งออกเป็น ยา
หอมสุขุมร้อน และยาหอมสุขุมเย็นอีก ที่หมอไทยแบ่งออกโดยละเอียดด้วยเหตุที่ลมร้อนนั้นร้อนต่างกัน ลมจึงไป
ก่ออาการได้หลายตำแหน่งในร่างกาย ตามธรรมชาติของความร้อนไอร้อนที่ลอยขึ้นบนเสมอ
ยาหอม รสร้อน ทำจากสมุนไพรรสหอมร้อนเป็นหลักเพื่อเข้าไปสร้างลมเพื่อผลักลมในช่องท้องให้ออกมา
อาการท้องอืดเฟ้อเรอ จุกเสียดแน่นในท้องจะลดลง ส่วนใหญ่ที่วางขายในท้องตลาดจะเป็นยาหอมรสนี้เป็นส่วนมาก
ยาหอม รสสุขุมร้อน ทำจากสมุนไพรรสหอมร้อนมากกว่ารสหอมเย็น โดยสมุนไพรรสหอมเย็นต้องผ่านกรร
วิธีอบกระแจะหอมเสียก่อน แล้วนำมาผสมเข้ากัน ปรุงด้วยเครื่องหอมอีกครั้ง ไม่ใช่แค่นำมาบดแล้วผสม ใช้แก้กองลมที่ตีเข้าอกเรียก "ลมแน่นเข้าอก" ทำให้แน่นเสียดในอก ขึ้นถึงคอเรียก"ลมจุกคอ" กลืนไม่เข้า คายไม่ออก
ยาหอม รสสุขุมเย็น ทำโดยนำกระแจะหอมมาผสมกับน้ำกระสายยาที่มีรสหอมเย็นเพื่อให้หอมเย็นมากยิ่งขึ้น
ถึงจะนำไปผสมกับสมุนไพรรสหอมร้อน ใช้แก้กองลมร้อนตีขึ้นเบื้องสูง มึนหัว เวียนหัว หน้ามืดตาลาย คล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ผะผืดผะอม ทรงตัวไม่อยู่โคลงเคลงไปมา ปวดลมปะกัง(ไมเกรนชนิดหนึ่ง) ลมปะกังออกตา(ปวดเบ้าตา
ตาร้อนผ่าว ตาแดง ตาแห้ง ความดันออกตา)
ยาหอมรสร้อนทำเพียงบดผสมเข้ากัน แล้วปรุงพิมเสนเพิ่มเท่านั้น แต่ยาหอมสุขุมร้อน และเย็นต้องผ่านวิธีทำกระแจะหอมเสียก่อน ถึงจะนำไปผสมกับเครื่องหอมอีกขนานอันประกอบไปด้วย ชมดเช็ด/ชมดเชียง/อำพันทอง/
อำพันขี้ปลา/พิมเสนในปล้องไม้ไผ่/หญ้าฝรั่น เป็นต้น ยาหอมรสร้อนจึงใช้เพียงแก้ลมท้องอืด ควรใช้ยาหอมแก้
ให้ถูกกับกองลมที่เกิดอาการจึงได้ผลดีกว่า
ขอแยกอาการตามกองลมที่เกิด และการใช้ยาหอมตามรสของยาดังนี้
๑ กองลมในไส้-นอกไส้ ท้องอืดเฟ้อเรอแน่นจุกเสียดในท้อง ยาหอมรสร้อน
๒ กองลมตีขึ้นบนแค่อกคอ แน่นหน้าอก จุกคอกลืนไม่เข้าไม่ออก ยาหอมสุขุมร้อน
๓ กองลมตีขึ้นถึงศีรษะ เวียน/มึน/หนักๆในหัว,ปวดหัว,เป็นลม ยาหอมสุขุมเย็น
ยาหอมเป็นยาสามัญประจำบ้านมาแต่โบราณ ใช้บรรเทามิได้รักษา และเมื่อบรรเทาแล้วต้องพบแพทย์เพื่อ
รักษาต่อไป ขอยกตัวอย่างยาหอมในบัญชียาหลักแห่งชาติและวิธีการวางยาให้ถูกต้องดังนี้

ยาหอมรสร้อน-สุขุม (ยาหอมนวโกฏ)
สรรพคุณ แก้ลมอันเกิดแต่กำเดา(ไอแห่งความร้อน) ที่ทำให้ท้องเต็มไปด้วยลม อืด/เฟ้อ/เรอบ่อย ลดอาการผะอืด
ผะอม เพิ่มลมเบ่งอุจจาระสำหรับอาการท้องผูกจากลมเบ่งหย่อน
ยาหอมรสสุขุม-ร้อน (ยาหอมทิพโอสถ)
สรรพคุณ แก้กองลมแน่นเข้าอก จุกเสียดในอก แก้กองลมจุกเข้าคอ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ยาหอมรสสุขุม-เย็น (ยาหอมเทพจิตร)
สรรพคุณ แก้กองลมเสียดราวข้าง แก้กองลมที่ตีขึ้นเบื้องบนทำให้ หน้ามืดตาลาย วิงเวียน ตามัวตาพร่าตาฝ้า
ลมออกตา ลมปะกัง หนักๆมึนๆในศีรษะ

ใช้ยาหอม ภูมิปัญญาแห่งบรรพชนสยามให้ถูกต้องไม่ใช่เป็นลมหน้ามืดแต่ไปใช้ยาหอมรสร้อน สุขุมร้อน
หรือท้องอืดเฟ้อ แต่ไปใช้ยาหอมสุขุม แล้วบอกว่าไม่ดีไม่เห็นหาย ก็ใช้ผิดจะไปหายได้อย่างไร แต่เมื่อรู้แล้วใช้ให้
ถูกต้องแล้วบอกผู้อื่นเป็นความรู้ต่อไป มีข้อเพิ่มเติมอีกนิดว่า ถ้ามีอาการลมขึ้นบนบ่อยๆให้ทานยาเขียว/ยาขม
ร่วมด้วยจะทุเลาหายเร็วขึ้น เพราะยาเขียว/ยาขมเป็นยาเย็น ผ่อนร้อนภายใน ไฟหายลมสงบ
แต่หากจะรักษากองลมไม่ให้มากไป-น้อยไป โบราณใช้น้ำกระสายยาช่วยลดบรรเทาดังนี้
น้ำกระสายยาลดความร้อนภายใน(เย็น)
ส่วนประกอบ ดอกไม้หอม(แล้วแต่หาได้)เช่น มะลิ,กระดังงา,กุหลาบ เป็นต้น คำฝอย,คำแสด,คำไทย
มีขายในรูปแบบชาชง ชาเขียว,ใบบัวบก ผลไม้เย็นเช่น สตอเบอรี่,มังคุด,เงาะ เป็นต้น
วิธีทำ นำทั้งหมดลงต้ม ยกเว้นดอกไม้ใส่ภายหลัง แล้วกรองปล่อยให้เย็น เติมน้ำเตยคั้น ปรุงรส
เปรี้ยวหวาน
วิธีใช้ กินอุณหภูมิปกติ ดื่มแทนน้ำได้ ช่วยผ่อนร้อนให้เย็นแบบสุขุมนุ่มนวล
น้ำกระสายยาลดลมภายใน(ร้อน)
ส่วนประกอบ ขิง/ใบสะระแหน่/ตะไคร้แกง/ลำไยแห้ง/
วิธีทำ นำทั้งหมดลงต้ม แล้วกรอง ปรุงรสหวานนิดเปรี้ยวหน่อยพออร่อย
วิธีใช้ กินอุณหภูมิปกติ ดื่มแทนน้ำ หลังอาหารยิ่งดี ช่วยย่อยขับลม ลดอืดเฟ้อแต่ไม่เรอ

ลมมากินอาหารรสร้อนพร้อมน้ำกระสายยาร้อนต่างน้ำ ร้อนมากินอาหารรสเย็นพร้อมน้ำกระสายยา
รสเย็นต่างน้ำ โบราณใช้รักษาลมไม่ให้เป็นลม ไม่เกิดลมสวิงสวายทำให้กระสับกระส่าย นี่แหละภูมิปัญญา
จากคนโบราณสำหรับคนเดี๋ยวนี้ ทำเองทำได้ไม่ป่วย

ที่มา: คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น