วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สำรับอาหารไทย จากตำรับหมอไทย

สำรับอาหารไทย จากตำรับหมอไทย
(ต่อเนื่องจากตอน กินอย่างไรไม่ให้ป่วย)

เนื่องจากเติบโตมาในสังคมกงสี มีหมอไทยเป็นหัวหน้ากงสีสำรับอาหารจึงถูกกำหนดโดยหมอ ผู้มีองค์ความรู้
เรื่องการกินมิให้ป่วย บ้านที่แยกตัวไปแต่ละหลังซึ่งอยู่ในอาณาเขตบ้านเดียวกัน หุงแต่ข้าว ส่วนกับข้าวมาตักเอาที่
บ้านใหญ่ คือกินกงสีทำอย่างไรกินอย่างนั้น ถ้าไม่กินก็ต้องทำเอาเอง

ตำรับหมอไทย ยามแรก
ตำรับหมอไทยบอกเข้ายามแรกนับ หกโมงเช้าจนถึงสิบโมงเช้า ระบบเสมหะในกายจะเริ่มทำงาน ขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระ โลหิตไหลเวียนไปทั้งกาย ให้กินเปรี้ยวขับเสลดแต่บำรุงโลหิต ให้กินร้อน เพราะร้อนทำให้เกิดลม ไปดันโลหิตให้ไหลเวียนได้ดี อาหารยามแรกจึงต้องออกเปรี้ยวออกร้อน
สำรับอาหารไทยยามแรก
สำรับคาว - แกงส้มเปรี้ยวนำเผ็ดตาม ใส่ผักรสเปรี้ยว แนมกับไข่เป็ดเจียวใส่หอมแดง
- ข้าวต้ม (นำลูกมะขามป้อมไปต้มกับน้ำแล้วกรอง ใส่น้ำตาลกรวดพอปะแล่มๆ) เอาน้ำลูกมะขาม ป้อมนี้ไปทำเป็นข้าวต้ม กินกับยำกุ้งแห้ง เปรี้ยวนำเผ็ดตาม ปลาเค็มทอดบีบมะนาวใส่พริกขี้หนูซอย
- ต้มยำดอกกระเจี้ยบยัดไส้หมูสับ เปรี้ยวนำเผ็ดตาม
สำรับอาหารหวานยามแรก กล้วยไข่เชื่อม ราดน้ำผึ้งบีบมะนาวตาม
สำรับกระสายยาหลังอาหารยามแรก น้ำต้มตรีผลา กับเตยหอม ปรุงรสเปรี้ยวหวาน

ตำรับหมอไทย ยามกลาง
ตำรับหมอไทยบอกเข้ายามกลางนับ สิบโมงเช้าถึงบ่ายสองโมงอากาศเริ่มร้อนอบอ้าว ระบบความร้อนหมาย
กำเดา ไอแห่งความร้อนภายในร่างกายจะกำเริบขึ้น เรียกกำเดาอุ่นกายกำเริบ ให้กินของเย็นหรือขม ปรุงให้ได้รส
กลมกล่อม คือไม่มีรสใดโดดนำหน้ารสอื่น เพื่อผ่อนร้อนภายในร่างกาย
สำรับอาหารไทยยามกลาง
สำรับคาว - แกงจืดตำลึง,ต้มกะทิสายบัว,ผัดผักบุ้งไฟแดง,สะเดาน้ำปลาหวาน,ต้มจืดมะระ,ก๋วยเตี๋ยวไม่ปรุง
รสเพิ่ม,ต้มเลือดหมู,ผักหวานผัดน้ำมันหอย,แกงเขียวหวานฟัก,ผัดแตงกวากับไข่เป็ด
สำรับหวาน - ขนมชั้นใบเตย,ขนมเปียกปูน,ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง,รวมมิตร,ซาหริ่ม
สำรับกระสายยา - น้ำเก็กฮวย,น้ำใบบัวบก,น้ำแตงโมปั่น,น้ำดอกอัญชัญ

ตำรับหมอไทย ยามท้าย
ตำรับหมอไทยบอกเข้ายามท้ายนับ บ่ายสองโมงจนถึงหกโมงเย็น อากาศร้อนถอยลง พอแดดร่มลมก็ตก
ลมจะกำเริบในกายได้ง่ายเหตุแต่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อาหารไทยจึงมักรสเผ็ดร้อน รสจัดด้วยเหตุนี้
ลมร้อนมาเกิดลม ลมฝนมาก็เกิดลม แม้แต่ลมหนาวมามีร้อนฝนแทรก เกิดลมอีกทั้งตาปีตาชาติ ด้วยประเทศ
สมุหฐาน(ที่ตั้งของประเทศ) ภูมิปัญญาแห่งบรรพชน จึงคิดค้นกันแต่อาหารรสจัดเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ป่วยจากลม
ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา นับเป็นความชาญฉลาดยิ่ง ทำอาหารให้เป็นยาก็ได้
สำรับอาหารไทยยามท้าย
สำรับคาวมีมากมายมหาศาล อะไรที่รสจัดรสเผ็ดร้อนใช้ได้ทั้งหมด น้ำพริกทุกชนิด,แกงเผ็ดสารพัน,ผัดเผ็ด
ผัดฉ่า,ต้มยำ,ต้มโคล้ง,ต้มข่า
สำรับหวาน ต้มขิงกับถั่วสารพัด,บัวลอยน้ำขิง,ขนมหม้อแกงโรยหอมเจียว
สำรับกระสายยา น้ำต้มใบสะระแหน่,น้ำต้มขิงสด

แต่ทั้งนี้อากาศสำคัญกว่าฤดู/กว่าเวลาอาหาร เพราะอากาศเป็นเช่นไรในแต่ละช่วงเวลา เราก็เป็นเช่นนั้น เข้าหน้าร้อนแต่วันนั้นฝนตกตอนบ่ายโมง แทนที่จะกินอาหารรสเย็น กลับต้องกินรสเผ็ดร้อนแทน เข้าหน้าฝนแต่ครึ้มๆฝนไม่ตกแต่อากาศเย็นแทน จึงไปกินอาหารรสเปรี้ยวร้อน ไม่ใช่รสเผ็ดร้อน หน้าหนาวแต่ลมหนาวไม่มา ต้องกินเผ็ดร้อน
แทนเปรี้ยวร้อน
อาหารยามแรก สำคัญที่สุด เพราะเวลาอาหารจะตรงกับอากาศมากที่สุด (ตามภาวะอากาศปกติ) หากไม่ได้กิน
ยามแรกให้กินเมื่อหิว และกินให้ถูกต้องตามรสในเวลาที่หิวนั้นเสมอ ไม่กินน้ำก่อน ระหว่างและหลังมื้ออาหาร เพื่อ
ไม่ไปรบกวนน้ำย่อยจากระบบการย่อยอาหาร จิบน้ำกระสายยาแต่น้อยหลังมื้ออาหารนั้นๆ
อาหารต้องปรุงด้วยวิธีวิถีไทย ต้ม ยำ ตำ แกง ผัดทอดไม่ใช่วิถีของเรา กินได้แต่ให้น้อย น้ำมันไม่เหมาะกับ
ประเทศสมุหฐานสยาม แต่เหมาะกับประเทศสมุหฐานเย็นหนาวเท่านั้น ชาติตะวันตก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ว่าเรา
จะเชื้อชาติใด แต่หากอยู่ในสยามประเทศควรทำตามวิธีวิถีไทยจึงถูกต้องที่สุด เพื่อไม่ป่วยไม่เจ็บไม่ไข้
 
ที่มา: คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น