วิธีการล้างจมูกในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และไซนัสอักเสบ
ผู้ป่วยที่มีอาการทางจมูกจากโรคภูมิแพ้ หรือจากสารคัดหลั่งที่มากกว่าปกติดังเช่นที่พบในโรคไซนัสอักเสบ การล้างจมูกเป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่ง สกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส หรือคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส หรือหลังการฉายแสงออก ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ นอกจากนั้นการล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร?
• ช่วยล้างมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เองทำให้โพรงจมูกสะอาด
• บรรเทาอาการหวัดเรื้อรังให้ดีขึ้น
• ป้องกันเชื้อโรคในจมูก และไซนัสลุกลาม
• ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค ของเสีย สารก่อภูมิแพ้
• ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
• บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ทำให้หายใจโล่ง
• การล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่นจมูกจะทำให้ยาพ่นจมูกมีประสิทธิภาพดีขึ้น
การล้างจมูกต้องเตรียมอุปกรณ์อย่างไร?
อุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูกไม่ยุ่งยากอะไรมากนัก สิ่งสำคัญที่ต้องจัดหาได้แก่
1.กระบอกฉีดยาขนาด 20 หรือ 50 ซีซี ถ้าจะให้ดีกว่านี้อาจหาซื้อชุดอุปกรณ์ล้างจมูกซึ่งประกอบด้วย หลอดฉีดขนาด 50 cc พร้อมปลอกหุ้มที่ทำด้วยซิลิโคน
2.น้ำเกลือล้างจมูก ในส่วนนี้อาจเตรียมได้เองโดยใช้น้ำอุ่นขนาด ครึ่งลิตร ผสมกับเกลือแกงสะอาด 1 ช้อนชา หรือจัดซื้อชุดน้ำเกลือซองพร้อมกระบอกผสมน้ำเกลือ หรือน้ำเกลือสะอาดที่ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ในกรณีหลังๆนี้อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
3.ภาชนะรองรับน้ำเกลือหลังล้างที่ออกมาทางจมูก และปาก อาจเป็นชามรูปไต กะละมังขนาดพอเหมาะ หรืออ่างล้างหน้าในห้องน้ำที่ใช้เป็นประจำ
4.แก้ว หรือภาชนะสะอาดที่จะใช้ใส่น้ำเกลือในการล้างจมูก หรือใช้ในการผสมน้ำเกลือที่จัดทำขึ้นเอง
5.กระดาษทิชชู
ขั้นตอนในการล้างจมูกเป็นอย่างไร?
ก่อนทำการล้างจมูกทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด หลังจากนั้นเรามาเริ่มการล้างจมูกกันได้เลยนะครับ
1.ในกรณีที่ใช้น้ำเกลือสำเร็จ ควรอุ่นน้ำเกลือให้มีความร้อนขนาดที่หลังมือทนได้ ระวังอย่าให้ร้อนมากเกินไปเพราะอาจทำอันตรายต่อเยื่อบุโพรงจมูกได้ ส่วนการผสมน้ำเกลือใช้เองก็ใช้น้ำอุ่นสะอาดในขนาดที่หลังมือทนได้เช่นกัน การอุ่นน้ำเกลือจะช่วยลดอาการแสบโพรงจมูกขณะทำการล้าง
2.นำภาชนะที่ใช้รองรับน้ำเกลือหลังล้างที่ออกมาทางจมูก และปากวางบนโต๊ะในระดับที่พอเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละท่าน หรือล้างในอ่างล้างหน้าในห้องน้ำ การนั่งหรือยืนล้างขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ล้าง
3.ใช้กระบอกฉีดล้างจมูกที่เตรียมไว้แล้ว ดูดน้ำเกลืออุ่นๆซึ่งจัดเตรียมไว้แล้วข้างต้น ในกรณีที่ล้างครั้งแรกจะยังไม่ชำนาญพอ ให้ดูดทีละน้อยๆก่อน เช่น ประมาณ 10-15 ซีซี
4.ผู้ที่จะล้างจมูกควรนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า และเอียงหน้าเล็กน้อย อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ หรืออยู่เหนืออ่างล้างหน้า ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่า หรือ คัดน้อยกว่าก่อน
5.ควรนำปลายกระบอกฉีดล้างจมูก ใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย ในกรณีที่มีปลอกหุ้มซิลิโคนพยายามให้ขอบซิลิโคนแนบกับจมูก อ้าปากไว้แล้วหายใจเข้าเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้
6.ดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดล้างจมูกเบาๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้าๆ หลังจากที่น้ำเกลือส่วนใหญ่ไหลออกมาจากจมูก และ / หรือ ปากแล้ว ให้หายใจตามปกติได้ ข้อสำคัญคือ ระหว่างที่น้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกจะต้องกลั้นหายใจไว้ มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดการสำลักได้
7.หลังจากที่คุ้นเคยกับการล้างจมูก และรู้จังหวะของการหายใจแล้ว จึงค่อยๆเพิ่มปริมาณของน้ำเกลือในการล้างแต่ละครั้งขึ้นเรื่อยๆ ควรจะดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกทุกทิศทาง เช่น ทางขวา ซ้าย ด้านบนและล่างของโพรงจมูก เพื่อชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกได้ทั่วทั้งโพรงจมูก และออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง และควรล้างจนกว่าน้ำเกลือที่ออกมาจากจมูก และปากใสเหมือนกับน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก จึงจะหยุดการล้างได้
8.หลังจากล้างเสร็จสามารถสั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก และบ้วนน้ำเกลือ หรือน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้ ควรสั่งเบาๆ และสั่งออกทางจมูกพร้อมๆกันทั้งสองข้าง ไม่ควรเอานิ้วอุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งเพราะจะทำให้ปวดหู เกิดแก้วหูทะลุ หรือเกิดโรคหูอักเสบได้
9.หลังล้างจมูกเสร็จทุกครั้ง ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด
ควรล้างจมูกเวลาใด?
ควรล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูกเสมอ แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก
ข้อควรระวังในการล้างจมูก
1.น้ำเกลือ และอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกต้องสะอาดระวังเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่ในขวดน้ำเกลือที่เหลือใช้
2.ไม่ควรกลั้นหายใจเพื่อกักน้ำเกลือให้ค้างในจมูกนาน เพราะน้ำเกลืออาจจะไหลย้อนไปในไซนัส และการสั่งน้ำมูกให้สั่งเบาๆ และไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
ที่มา: นพ.ภก.สุรสฤษดิ์ ขาวละออ อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ฯ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=529904993747190&set=a.369585513112473.85788.369578483113176&type=1)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น