วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อ่อนเพลีย - ระเหี่ยใจ



        โบราณแยกอาการอย่างละเอียดอ่อน เพื่อการรักษาและนำไปสู่ผล คือ การบรรเทาอาการ ในที่นี้จะขอกล่าวแยกออกเป็น อาการทางกาย อาการทางกายใจ และอาการทางใจ
 

อาการอ่อนเพลีย เป็นอาการปรากฎที่กาย แต่ระเหี่ยใจ เป็นอาการปรากฎที่ใจ หมอไทยแบ่งอาการกาย-ใจนี้เป็น 5 ประการดังต่อไปนี้
           1. อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เป็นอาการทางกาย
           2. อ่อนระโหยโรยแรง เป็นอาการทางกายที่มากขึ้น
           3. อ่อนกาย-อ่อนใจ เป็นอาการทางกายนำ ทางใจตาม
           4. อ่อนใจ-อ่อนกาย เป็นอาการทางใจนำ ทางกายตาม
           5. อ่อนอก-อ่อนใจ เป็นอาการทางใจ
        อาการทางกาย ประกอบด้วย2อาการ คือ เริ่มจากอ่อนเปลี้ยเพลียแรง มากๆเข้าเกิดเป็นอ่อนระโหยโรยแรงตามมาซึ่งเป็นอาการที่มากขึ้นๆ มักเกิดแต่สมุฎฐานเหตุที่ อาชีพ และการใช้ชีวิต รวมทั้งอาการหรือโรคที่เกิดเป็นสำคัญ เกิดต่อเป็นกระษัย(ภาวะความเสื่อมไป)นำมาซึ่งความอ่อนแรงจนอ่อนเปลี้ย ขัดแข้งขัดขา ไม่สบายเนื้อตัว ปวดเมื่อยไปตามเนื้อตัว หมอไทยว่าไว้ จะเกิดกำเดาระส่ำระส่าย(ภาวะความร้อนเย็นที่ไม่เสถียร) ทำให้เกิดลมสวิงสวาย (ความร้อนไม่เสถียรลมก็ไม่เสถียร) นอนหลับกระสับกระส่าย (ภาวะไม่สบายเนื้อตัว) ถ้าเป็นสะสมมากขึ้นจะเกิดภาวะแขนขาอ่อนแรง แรงน้อยลงๆ เข้าเขตอ่อนระโหยโรยแรง ไม่อยากเคลื่อนไหวกาย อยากอยู่นิ่งๆหน้าตาหมองคล้ำไม่สดชื่น ซีดเซียว
 
        อาการทางกาย-ใจ เมื่อกายอ่อนแรงมากขนาดนี้แล้วภาวะทางใจจะตามมา รู้สึกห่อเหี่ยวไม่มีกำลัง ตัวจะรุ่มๆเหมือนเป็นไข้ ไม่อยากจะทำสิ่งใด และเมื่อนั้นอาการทางใจจะนำหน้าอาการทางกาย อารมณ์ไม่ดี เบื่อผู้คนรอบตัว อยากอยู่คนเดียว มักหาโรคหาอาการให้ตัวเองว่าตนเป็นโรคนั้นโรคนี้เรื่อยไป มีภาวะวิตกกังวลคิดอะไรๆตลอด
 
       อาการทางใจ เข้าเขตอ่อนอกอ่อนใจ คล้ายอาการลมผิดเดือน โมโหง่าย น้อยใจเก่ง ใจเร็วคิดเร็วทำเร็ว ใจร้อน ร้อนใจ-ร้อนกาย ดื้อทำกิจต่างๆทั้งยังอ่อนแรง เป็นภาวะทางใจล้วน ก่อเป็นภาวะทางกาย วัฎฎะจะกลับไปตั้งต้นใหม่ที่ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง
 
       เราสามารถตรวจกายตรวจใจของเราได้ด้วยตนเองอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง เป็นที่กายไปดับที่กาย เป็นที่ใจไปดับที่ใจ เป็นทั้งกายและใจไปดับทั้งสองนั้น หมอไทยไม่ได้รักษาแค่กายคนไข้แต่หมอรักษาทั้งกายและใจของคนไข้ไปพร้อมกัน เสมอ กายหมอช่วยได้แต่ใจคนไข้ต้องช่วยหมอบ้าง หมอไทยมองคนไข้มิใช่คนไข้ แต่เป็นญาติที่ต้องรักษาหมอไทยจึงใช้เวลาค่อนข้างนานกับคนไข้ เพื่อให้คลายทุกข์จากอาการทางกายและใจ
 
ขอแนะนำน้ำกระสายยาสักสองขนานไว้บรรเทายามอ่อนกาย หรืออ่อนใจดังนี้


น้ำกระสายยายามอ่อนกาย
      ส่วนประกอบ ผลมะตูมแห้ง/ขิง/รากบัวไทย/ลูกเดื่อย/ใบบัวบก/ดอกเก็กฮวย/เกสรบัวหลวง
      วิธีทำ นำทั้งหมดลงต้มในน้ำมะพร้าว แทรกน้ำตาลกรวด
      วิธีใช้ จิบบ่อยๆเหมือนจิบน้ำชา เพิ่มแรงหายอ่อนเพลีย
น้ำกระสายยายามอ่อนใจ
       ส่วนประกอบ 4 ใบใบพลู/ใบฟ้าทะลายโจร/ใบชา/ใบขี้เหล็ก/ 2 ดอก/ดอกบัว/ดอกขี้เหล็ก 2 ผล/
ผลมะละกอหั่นแว่น และผลมะเฟืองหั่นแว่น
       วิธีทำ นำทั้งหมดลงต้มในน้ำมะพร้าว แทรกน้ำตาลกรวด
       วิธีใช้ จิบบ่อยๆเหมือนจิบน้ำชา สบายใจนอนหลับดี

         อ่อนกายอ่อนใจ จิบน้ำกระสายยาแล้ว ลงแช่น้ำฝักส้มป่อยทั้งหัวทั้งตัวชื่นกายชื่นใจ เหมือนได้ผ่อนคลาย หรือจะลงแช่พร้อมจิบน้ำกระสายอุ่นๆไปด้วยสุขกายสุขใจ ไม่ต้องไปเข้าสปาให้เปลืองเงินทอง น้ำยาอุทัยของแท้ (แบบสีแดงจากฝางเสน) ผสมน้ำที่ไม่เย็นชื่นกายผ่อนร้อนลง ยาขมยาเขียวก็กินดี กายเย็นใจเย็นไม่ต้องพึ่งยาคลายเครียด

          หากหาสมุนไพรมาทำยายังไม่ได้ น้ำข้าวนี่แหละของดี ใส่เกลือนิดซดอุ่นๆหายอ่อนเพลียได้ อาทิตย์ละครั้งก็ไปหาหมอหัตถศาสตร์แผนไทย นวดคลายกล้ามเนื้อสักสองชั่วโมง เลือดลมไหลเวียนดีไม่ติดขัด แต่ถ้าทำไม่ได้สักอย่างด้วยเหตุผลสารพัน ขอแนะนำเป็นยาดองเหล้าใช้จิบก่อนนอน พอนอนได้นอนหลับดีร่างกายได้พักอย่างเต็มที่ เสมือนฟื้นฟูกำลังให้กลับมา เป็นการนอนยาวแบบมีคุณภาพ

ยาดองเหล้ายามอ่อนกาย-อ่อนใจ
        ส่วนประกอบ กำลังทั้งห้า/รากปลาไหลเผือก/ฝางเสน/ดอกขี้เหล็กคั่วกับเตยหอม/เหล้าขาว/น้ำผึ้ง/น้ำตาลกรวด
       วิธีทำ นำสมุนไพรห่อด้วยผ้าขาวบาง ดองในเหล้าขาวเติมน้ำผึ้ง,น้ำตาลกรวด สัก7-10 วันใช้ได้
       วิธีใช้ น้ำมะนาวสดแทรกเกลือ ผสมกับยาดอง 1ถ้วยตะไล ดื่มหมดทีเดียวก่อนนอน
       สรรพคุณ นอนหลับลึก หลับสบาย หายอ่อนหล้า ตื่นมาสดชื่นสบายเนื้อตัว

      พักกายพักใจ คือยาขนานเอกที่แก้อาการอ่อนเพลีย ระเหี่ยใจได้ดีที่สุด ตรงจุดที่สุด หากพักกายไม่ได้ ให้ทำน้ำกระสายหรือยาดองลองทานดู ส่วนพักใจก็ลองน้ำกระสายยายามอ่อนใจ หากยังไม่หายต้องไปปรึกษากับผู้รู้ทางศาสนาของตนดู เพื่อหาทางออกทางใจ
ที่มา: คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย) สิงหาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น